คณะกรรมการน้ำแห่งชาติ เคาะ 3 โครงการใหญ่ งบ 1.8 หมื่นล้าน แก้วิกฤตน้ำ

คณะกรรมการน้ำแห่งชาติ เคาะ 3 โครงการใหญ่ งบ 1.8 หมื่นล้าน แก้วิกฤตน้ำ

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังจากเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการอำนวยการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และการประชุมคณะกรรมการน้ำแห่งชาติ (กนช.) ว่า กนช. เห็นชอบกรอบโครงสร้างการจัดตั้งศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจและกองอำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ (วอร์รูม) เพื่ออำนวยการแก้ไขปัญหาวิกฤตสถานการณ์น้ำและบูรณาการการปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานทุกภาคส่วนเพื่อบริหารจัดการมวลน้ำได้อย่างเป็นระบบ ซึ่งสอดคล้องกับพ.ร.บ. ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ประกอบด้วย

1.ศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจ มีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้บัญชาการ รองนายกรัฐมนตรีเป็นรองผู้บัญชาการ และเลขาธิการสทนช. เป็นกรรมการและเลขานุการ มีอำนาจหน้าที่ควบคุม สั่งการ บัญชาการ และอำนวยการแก้ไขวิกฤตน้ำ โดยบัญชาการร่วมกับกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.)

2.กองอำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ มีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เลขาธิการสทนช. เป็นรองประธาน และรองเลขาธิการ สทนช. เป็นกรรมการและเลขานุการ มีอำนาจหน้าที่อำนวยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ติดตาม วิเคราะห์แนวโน้ม ควบคุม กำกับ ดูแล และสรุปข้อมูลประกอบการตัดสินใจของศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจ และบูรณาการบริหารจัดการวิกฤตน้ำ

ทางด้านนายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า กนช. เห็นชอบ 3 โครงการขนาดใหญ่วงเงินกว่า 18,000 ล้านบาท ประกอบด้วย

3.โครงการก่อสร้างเพื่อการพัฒนา ปี 2561 ของการประปาส่วนภูมิภาคจำนวน 6 โครงการ วงเงินงบประมาณ 11,000 ล้านบาท ซึ่งเมื่อก่อสร้างเสร็จสิ้นจะสามารถผลิตน้ำประปาได้เพิ่มขึ้น 332,400 ล้านลูกบาศก์เมตร/วัน

4.โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองพระยาราชมนตรี จากคลองภาษีเจริญถึงคลองสนามชัย ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี (ปี 2564-68) วงเงิน 6,130 ล้านบาท เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำพื้นที่ฝั่งธนบุรี

5.โครงการแก้ปัญหาอุทกภัยลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่าง ซึ่งจะเป็นการเพิ่มศักยภาพคลองระบายน้ำ D1 จากแม่น้ำเพชรบุรีลงสู่อ่าวไทยได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี (ปี 2564-68) ก่อนจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป

ทั้งนี้ ที่ประชุมยังพิจารณาแผนปฏิบัติการภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ประจำปี 2563 ประกอบด้วย 28 หน่วยงาน จำนวน 57,975 โครงการ วงเงินกว่า 3.1 แสนล้านบาท ที่กระจายลงทุกภาคทั่วประเทศ เพิ่มแหล่งกักเก็บน้ำและเพิ่มต้นทุนน้ำ จำนวน 144 โครงการ โครงการก่อสร้างฝายชะลอน้ำ 30,000 แห่งทั่วประเทศ รวมทั้งงบประมาณที่กระจายให้ทุกจังหวัดแก้ไขและบรรเทาปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยอีกด้วย

ที่มา brighttv

:: เนื้อหาข่าวที่น่าสนใจ