เตือนเฝ้าระวัง 28 จังหวัดทั่วไทย เตรียมรับมือน้ำล้นตลิ่ง ท่วมขัง

เตือนเฝ้าระวัง 28 จังหวัดทั่วไทย เตรียมรับมือน้ำล้นตลิ่ง ท่วมขัง

วันที่ 13 ก.ย. นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ติดตาม ปริมาณน้ำฝนสะสม สถานการณ์น้ำท่า พบว่าร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันตอนบนมีกำลังปานกลาง ทำให้ประเทศไทยตอนบน มีฝนตกเพิ่มขึ้นและฝนตกหนักบางพื้นที่ ขณะที่บางพื้นที่ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัย อาจทำให้เกิดน้ำล้นตลิ่ง และน้ำท่วมขังในช่วงวันที่ 12-14 ก.ย.นี้

นายชยพล กล่าวต่อว่า แยกเป็น พื้นที่ติดตามผลกระทบจากน้ำล้นตลิ่ง น้ำท่วมขัง ได้แก่ กาฬสินธุ์ (อ.กลาไสย), ร้อยเอ็ด (อ.เชียงขวัญ, ทุ่งเขาหลวง, จังหาร, สุวรรณภูมิ, โพนทราย, หนองฮี), ยโสธร (อ.เมืองยโสธร, มหาชนะชัย, ป่าติ้ว), อำนาจเจริญ (หัวตะพาน), ศรีสะเกษ (อ.กันทรารมย์), อุบลราชธานี (อ.เมืองอุบลราชธานี เขื่องใน เดชอุดม วารินชำราบ พิบูลมังสาหาร)

พื้นที่เฝ้าระวังผลกระทบจากฝนตกหนัก แยกเป็น ภาคเหนือ 8 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน, เชียงราย, เชียงใหม่, ลำพูน, ลำปาง, พะเยา, แพร่ และน่าน ภาคตะวันเฉียงเหนือ 10 จังหวัด ได้แก่ หนองคาย, บึงกาฬ, หนองบัวลำภู, อุดรธานี, ชัยภูมิ, ขอนแก่น, กาฬสินธุ์, สกลนคร, นครพนม และมุกดาหาร ภาคกลาง 1 จังหวัด ได้แก่ นครนายก ภาคตะวันออก 7 จังหวัด ได้แก่ ปราจีนบุรี, สระแก้ว, ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี, ระยอง, จันทบุรี และตราด ภาคใต้ 2 จังหวัด ได้แก่ ระนอง และพังงา

นายชยพล กล่าวอีกว่า กอปภ.ก. ได้ประสานศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตและจังหวัด ในพื้นที่เสี่ยงภัยดังกล่าวเตรียมพร้อมป้องกันและรับมือสถานการณ์ภัย โดยติดตามข้อมูลสภาพอากาศ ระดับน้ำ และการระบายน้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมระดมสรรพกำลังเจ้าหน้าที่ ชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤต (ERT) เครื่องจักรกลสาธารณภัย และเครื่องมืออุปกรณ์เข้าประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการ เผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันที

นายชยพล กล่าวต่อว่า รวมถึงประชาสัมพันธ์ข้อมูลแนวโน้มสถานการณ์ภัยแก่ประชาชนผ่านทุกช่องทางการสื่อสาร อาทิ กลไกฝ่ายปกครอง จิตอาสา เครือข่ายเตือนภาคประชาชน อีกทั้งแจ้งเตือนประชาชนให้ติดตามสถานการณ์น้ำและปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด เพื่อให้สามารถเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยได้ทัน โดยเฉพาะการขนย้ายทรัพย์สินและเครื่องใช้ขึ้นสูง การเคลื่อนย้ายยานพาหนะไปยังพื้นที่ปลอดภัย รวมถึงระมัดระวังอันตรายจากกระแสไฟฟ้ารั่ว สัตว์เลื่อยคลาน และสัตว์มีพิษ

อีกทั้งหลีกเลี่ยงการขับรถผ่านเส้นทางที่มีกระแสน้ำไหลเชี่ยวและน้ำท่วมสูง ทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยสามารถติดต่อได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป

:: เนื้อหาข่าวที่น่าสนใจ