เรื่องราวการมีอยู่จริงของหินเกล็ดงู ที่วิทยาศาสตร์อธิบายได้

เรื่องราวการมีอยู่จริงของหินเกล็ดงู ที่วิทยาศาสตร์อธิบายได้

เปิดความลับ ถ้ำนาคา เรื่องราวการมีอยู่จริงของหินเกล็ดงู ที่วิทยาศาสตร์อธิบายได้ ถ้ำหินทราย ที่หด - ขยายตัวอย่างสม่ำเสมอ กลายเป็นความงามสุดลึกลับ ทรงคุณค่าด้านความเชื่อ และการเรียนรู้ จากกรณีที่อุทยานแห่งชาติภูลังกา อ.บึงโขงหลง จ.บึงกาฬ มีการพบหินลักษณะคล้ายหัวงูขนาดใหญ่ อยู่บริเวณทางขึ้นไปยังถ้ำนาคา จุดที่ 2 โดยหินดังกล่าวมองไปแล้ว มีดวงตา ปาก และมีลายเกล็ด สมบูรณ์ครบถ้วนเหมือนหัวงูจริง ๆ ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ช่องยูทูบ KeaJung ได้อัปโหลดคลิปวิดีโอ พิสูจน์ถ้ำนาคา ถ้ำพญานาคกลายเป็นหิน (THUMNAKA) ไว้เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2563 ซึ่งเป็นการพาไปพิสูจน์และเรียนรู้การเกิดถ้ำนาคา ในมุมมองวิทยาศาสตร์ โดยผู้ดำเนินรายการระบุว่า การเกิดถ้ำประเภทนี้ เกิดจากหินทราย และลม ทำให้ผิวเนื้อผนังถ้ำมีความสม่ำเสมอ ในส่วนเรื่องของรอยแตกมีลักษณะเป็นแนวดิ่ง ตัดกันแนวจัตุรัส มีน้ำไหลลงกลางร่องและเกิดการกัดเซาะ จนเกิดรอยนูนรอยเว้าที่คล้ายลำตัวงูนั้น แสดงถึงพัฒนาการของการเกิดถ้ำที่นี่ บ่งบอกว่าพื้นที่ของภาคอีสานส่วนนี้ อาจมีความเกี่ยวข้องกับการยกตัวของดินอย่างช้า ๆ ในอดีต รวมถึงปรากฏการณ์เมื่อ 100,000 ปีที่แล้ว โลกอยู่ในยุคน้ำแข็ง เป็นยุคที่มีน้ำน้อย ซึ่งก็ทำให้เกิดการกัดเซาะน้อย สลับมาช่วง 10,000 ปีที่แล้ว โลกร้อนขึ้น ก็จะมีน้ำเยอะ และทำให้เกิดการกัดเซาะเยอะขึ้น

ส่วนลักษณะที่คล้ายเกล็ดงูนั้นเกิดจากการหดและขยายตัวอย่างสม่ำเสมอ ของหินที่มีเนื้อสม่ำเสมอ จนเกิดเป็นรอยแตกขึ้นมา ประกอบกับการไหลของน้ำที่คดเคี้ยว ก็จะเกิดเป็นลักษณะคล้ายกับการเลื้อยของงูหรือพญานาค ซึ่งเป็นความเชื่อของชาวบ้านท้องถิ่น ทั้งนี้ พื้นที่ดังกล่าวเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรณีวิทยาที่น่าสนใจมาก ๆ เพราะสามารถนำความเชื่อท้องถิ่นมาเรียนรู้ร่วมกับความรู้ทางด้านธรณีวิทยาได้ ตามรายงานของ สำนักข่าวไทย ที่ได้สัมภาษณ์ ดร.ประดิษฐ์ นูเล นักธรณีวิทยาชำนาญการ ระบุว่า ลักษณะที่เกิดขึ้นเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติทางธรณีวิทยา เรียกว่า ซันแครก หินทรายเกิดการขยายและหดตัวจากความเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิที่แตกต่างกัน ระหว่างกลางวันและกลางคืนอย่างรวดเร็วตั้งแต่อดีตกาล แตกเป็นรูปเหลี่ยมบนผิวหน้าคล้ายเกล็ดงู

:: เนื้อหาข่าวที่น่าสนใจ