ธนีย์ ธนียวัน ผู้เชี่ยวชาญโรคปอด

ธนีย์ ธนียวัน ผู้เชี่ยวชาญโรคปอด

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคCV-19 ในขณะนี้ ซึ่งมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ยอดผู้ติดเชื้อพุ่งเกือบหมื่นรายในแต่ละวัน อีกทั้งยังมีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่ไม่มีเตียง กักตัวดูอาการที่บ้าน หรือรอการรักษา ซึ่งมีคนจำนวนมากเกิดความกังวล หากป่วยหนักถึงขั้นเชื้อลงปอด แต่ไม่ได้อยู่โรงพยาบาล จะต้องทำอย่างไร ? คุณหมอท่านนี้มีคำแนะนำให้แล้ว

โดย ยูทูบ Doctor Tany ของ นพ.ธนีย์ ธนียวัน ผู้เชี่ยวชาญโรคปอด วิกฤตบำบัด และการปลูกถ่ายปอด (Pulmonary and Critical Care Medicine / Lung Transplant) อาจารย์หนุ่มชาวไทยในสหรัฐอเมริกา ได้โพสต์คลิปให้คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยCV-19 ที่กำลังรอเตียง หรือรอเจ้าหน้าที่มารับตัวไปรักษาที่โรงพยาบาล ดังต่อไปนี้

สังเกตอาการตัวเอง

ถ้าทำกิจกรรมอะไรที่เคยทำแล้วไม่เหนื่อย แต่ทำแล้วเหนื่อย ก็ให้สงสัยไว้ก่อน เช่นเดินไปมาในห้อง ซึ่งไม่ควรจะเหนื่อย สำหรับคนที่ไม่แน่ใจว่าเหนื่อย ให้ลองลุกยืนจากท่านั่งสัก 2-3 ครั้ง เหนื่อยหรือไม่ หรือกลั้นหายใจสัก 10 - 15 วินาที ถ้าทำแล้วเหนื่อย ก็แสดงว่าเหนื่อยจริง ๆ ถ้าคนที่มีเครื่องวัดออกซิเจนแล้วเจอออกซิเจนต่ำกว่า 94 เปอร์เซ็นต์ ก็น่าจะมีปัญหาว่าโควิดลงปอด

ควรทำอย่างไร เมื่อสงสัยว่าเชื้อลงปอด

- นอนคว่ำ เพราะการนอนหงายทำให้น้ำหนักตัวจะกดลงปอด จนปอดด้านหลังทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ การนอนคว่ำจะทำให้ปอดทำงานได้ดีขึ้น

- อย่าเดินไปมามากหากมีอาการเหนื่อย - ถ้านอนคว่ำไม่ได้ ให้นอนตะแคง หากนอนตะแคงไม่ได้ เช่น ปวดหลัง ให้ใช้หมอนช่วยหนุนเวลานอน ให้อยู่ในท่าตะแคงกึ่งนอนคว่ำ

- สำหรับสตรีที่ตั้งครรภ์ แนะนำให้นอนตะแคงด้านซ้ายลง เพราะจะทำให้น้ำหนักของมดลูกไม่ไปกดเส้นเลือดดำใหญ่ ทำให้เลือดไหลเวียนได้สะดวก

- พยายามเคลื่อนไหวขาบ่อย ๆ เพื่อให้เลือดไหวเวียนดี เพื่อป้องกันการเกิดลิ่มเลือด

- ดื่มน้ำเยอะ ๆ เพราะถ้าขาดน้ำโอกาสที่เพลียจะมีเยอะ ดื่มเยอะประมาณ 2 ลิตรต่อวัน หรือ 2.5 ลิตร แต่ไม่ต้องถึงขั้น 4-5 ลิตร เพราะหากทานน้ำมากเกินไปจะทำให้เกลือแร่ในร่างกายเจือจางลง

- หากมีอาการเหนื่อยมาก อย่าไปเข้าห้องน้ำ เพราะการเบ่งถ่าย และลุกนั่งอาจทำให้เป็นลมหมดสติ หรือหัวใจหยุดเต้นได้ ควรขับถ่ายบริเวณข้างเตียงเลยดีที่สุด ใช้กระโถน กระดาษ หรืออะไรที่หาได้

- หากจำเป็นจะเข้าห้องน้ำ ห้ามล็อกประตูเด็ดขาด และควรบอกคนอื่น ๆ ในครอบครัวด้วย เนื่องจากมีหลายรายที่เหนื่อยแล้วไปเข้าห้องน้ำ แล้วเป็นลมแลแะหัวใจหยุดเต้น - กรณีท้องผูก ให้ทานยาระบายอ่อน ๆ และดื่มน้ำมาก ๆ การเบ่งอุจจาระจะทำให้หน้ามืดได้ ในกรณีที่ออกซิเจนต่ำ

- ไม่ควรงดอาหารและยาประจำตัว รับประทานยาประจำตัวอย่างสม่ำเสมอ อย่าขาดยา กรณีที่เป็นเบาหวาน ควรตรวจน้ำตาลบ่อย ๆ ถ้าเบาหวานต่ำควรงดอินซูลิน หรือยาทาน

- ถ้าเป็นโรคความดันโลหิตสูง ควรวัดความดันบ่อย ๆ ถ้าความดันต่ำเช่น 90/60 ควรงดยา - รับประทานอาหารให้เพียงพอ หากทานอาหารไม่ได้เลย ควรดื่มเกลือแร่ ถ้าไม่มีก็ให้ผสมเกลือประมาณ 1 ช้อนชากับน้ำตาลลงในน้ำแล้วดื่ม

- ถ้ามีไข้ เตรียมยาพาราเซตามอลเอาไว้ อย่าทานยากลุ่มอื่นโดยเฉพาะ NSAID เช่น Ibuprofen, Naproxen, Mefenamic acid (พอนสแตน) หรือ Diclofenac (Voltaren) เพราะอาจทำให้เกิดปัญหาได้ หากแพ้ยาพาราให้เช็ดตัว สามารถทานยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจรได้ ตามปริมาณที่กำหนดที่ข้างฉลาก อย่าทานเกิน ท่านที่มีโรคตับห้ามทานเพราะอาจทำให้ตับวาย

:: เนื้อหาข่าวที่น่าสนใจ